สถานที่ท่องเที่ยวในพื้นที่ให้บริการ

จุดชมวิวเขารัง

เขารังเป็นเนินเขาอยู่ในตัวเมืองภูเก็ตทางด้านทิศตะวันตกเฉียงเหนือรถยนต์สามารถขึ้นไปถึงยอดเขาตามถนน "คอซิมบี้" สามารถเห็นทัศนียภาพของเกาะภูเก็ตได้ชัดเจน ยิ่งเป็นช่วงกลางคืนจะเห็นแสงไฟจากตามบ้านเรือนงามระยิบระยับงามไปอีกแบบ และเขารังยังเป็นสวนสุขภาพและสวนสาธารณะไว้พักผ่อนหย่อนใจและชมทิวทัศน์   ที่มา : https://www.phuketcity.go.th/travel_top/detail/12 ขอบคุณภาพจาก : OZSL
อ่านต่อ

วัดถ้ำเสือ

ตั้งอยู่บนเขาแก้ว ตำบลกระบี่น้อย เดิมคือ “สำนักสงฆ์หน้าชิง” เป็น สถานปฏิบัติธรรมและวิปัสสนากรรมฐาน ต่อมาเปลี่ยนชื่อเป็นวัดถ้ำเสือ เหตุที่ได้ชื่อว่า “ถ้ำเสือ” เพราะถ้ำบริเวณนี้เคยมีเสือโคร่งอาศัยอยู่ และภายในถ้ำยังปรากฏหินธรรมชาติเป็นรูปอุ้งเท้าเสือ สภาพโดยทั่วไปมีสวนป่าและมีถ้ำเล็ก ๆ อยู่หลายถ้ำ สิ่งที่น่าสนใจในวัดถ้ำเสือ คือ พระธาตุเจดีย์ รอยพระพุทธบาทจำาลอง และพระพุทธรูปปางสมาธิองค์ใหญ่ ซึ่งประดิษฐานอยู่บนยอดเขาแก้ว มีความสูง ประมาณ 600 เมตร จากระดับทะเลปานกลาง มีบันได 1,237 ขั้นให้เดินขึ้นไปสักการะ นอกจากนี้เมื่อยืนอยู่ในบริเวณยอดเขาแก้วจะมองเห็นเมืองกระบี่ ได้ 360 องศา ซึ่งรายล้อมไปด้วยภูเขารูปทรงสวยงามแปลกตา ทั้งยังเป็น จุดชมพระอาทิตย์ขึ้น โดยเฉพาะในช่วงเดือนกันยายน-มกราคม จะได้ชมทะเลหมอกในยามเช้าอีกด้วย   ที่มา : https://thai.tourismthailand.org/Attraction/วัดถ้ำเสือ-3
อ่านต่อ

สุสานหอย

สุสานหอย 75 ล้านปี ตั้งอยู่บริเวณชายทะเลบ้านแหลมโพธิ์ทางด้านทิศตะวันออกเฉียงเหนือของพื้นที่อุทยานแห่งชาติมีซากดึกดำบรรพ์ของหอยน้ำจืด ส่วนใหญ่เป็นหอยขม มีขนาดยาวประมาณ 2 เซนติเมตร ซากหอยเหลานี้ได้ทับถมกันโดยมีน้ำประสารธาตุปูนจับตัวให้กลายเป็นหินแข็งทับอยู่ชั้นหินลิกไนท์ และหินดินดาน จากหละกฐานด้านธรณีวิทยาพบว่าอายุของสุสานหอยประมาณ 40 - 20 ล้านปี สุสานหอย 75 ล้านปี มีทั้งหมด 3 จุด คือ  แหลมโพธิ์ 1 อยู่ด้านทิศตะวันตกของศูนย์บริการนักท่องเที่ยว , แหลมโพธิ์ 2 อยู่บริเวณศูนย์บริการนักท่องเที่ยว , แหลมโพธิ์ 3 อยู่ทางทิศตะวันออกห่างจากศูนย์บริการนักท่องเที่ยวประมาณ 1 กิโลเมตร หมายเหตุ : เวลาที่เหมาะสมในการเข้าชม ช่วงเช้าเวลาประมาณ 07.00 - 10.00  และ ช่วงเย็นเวลาประมาณ 15.00 - 17.00 น.   ที่มา : https://portal.dnp.go.th/Content/nationalpark?contentId=2984
อ่านต่อ

สระมรกต

สระมรกต มีลักษณะเป็นบ่อหินปูน ในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเขาประ-บางคราม น้ำในสระมรกตสามารถเปลี่ยนสีไปได้ตามวันเวลาและสภาพแสง ซึ่งถือกำเนิดขึ้นมาจากธารน้ำอุ่น ในผืนป่าที่ราบต่ำภาคใต้ เป็นน้ำพุร้อนลักษณะเป็นสระน้ำร้อน 3 สระ ได้แก่ สระแก้ว สระมรกต และ สระน้ำผุด อุณหภูมิของน้ำอยู่ที่ 30-50 องศาเซลเซียส , นอกจากสระมรกตแล้วบริเวณรอบๆยังมีเส้นทางเดินศึกษาธรรมชาติ โดยเส้นทางการศึกษาธรรมชาติมีชื่อว่า “เส้นทางศึกษาธรรมชาติทีนา โจลิฟฟ์ (ทุ่งเตียว) ซึ่งเป็นการตั้งชื่อตามชาวอังกฤษที่เป็นผู้ริเริ่มเส้นทางศึกษาธรรมชาติแห่งนี้ มีระยะทางประมาณ 2.7 กิโลเมตร เพื่อให้นักเดินทางศึกษาได้ด้วยตนเอง นอกจากนี้ยังมีบ่อน้ำผุด ซึ่งเป็นบ่อน้ำธรรมชาติ และเป็นต้นกำเนิดของสระมรกต อยู่ห่างจากสระมรกตประมาณ 500 เมตร ซึ่งบ่อแห่งนี้จะเป็นน้ำสีฟ้าอมน้ำเงิน เป็นสระน้ำแร่ธรรมชาติเนื่องจากมีแร่ธาติที่ทับถมกันจำนวนมากเป็นเวลานาน บ่อน้ำผุดจึงเป็นแหล่งน้ำแร่เก่าแก่ และเกิดน้ำผุดขึ้นมาเป็นระยะ
อ่านต่อ

อ่าวนาง

อ่าวนาง เป็นส่วนหนึ่งของ อุทยานแห่งชาติหาดนพรัตน์ธารา - หมู่เกาะพีพี เป็นศูนย์กลางการท่องเที่ยวทะเลกระบี่ เป็นที่ตั้งของ รีสอร์ท ร้านอาหาร บริษัททัวร์ให้บริการนำเที่ยวเกาะที่มีชื่อต่างๆของกระบี่ เช่น ทะเลแหวก เกาะปอดะ เกาะพี พี หมู่เกาะห้อง เป็นจุดเช่าเรือไปเที่ยวสถานที่ต่าง ๆ ได้แก่ หาดไร่เล ถ้ำพระนาง และเกาะต่างๆ สถานที่ท่องเที่ยวในทะเลกระบี่ พื้นที่ของ อ่าวนาง จะ ตั้งอยู่ตามถนนเลียบชายทะเลเป็นระยะทาง 6 กิโลเมตร เป็นหาดทรายทอดยาว มีถนนเลียบชายหาด มีภูเขาคั่นระหว่างชายหาด ทิวทัศน์โดยรอบสวยงามแปลกตา ด้านทิศตะวันออก ของอ่าว มีถ้ำหิน งอกหินย้อยชื่อ ถ้ำพระนาง และบริเวณด้านหน้าของ  อ่าวนาง มีกลุ่มเกาะน้อยใหญ่ถึง 83 เกาะ ที่เป็นโขดหิน รูปร่างแปลกประหลาดบ้างก็คล้ายรองเท้าบู๊ท เรือสำเภา หัวนก และอื่น ๆ กลุ่มเกาะเหล่านี้ เช่น เกาะปอดะ เกาะยาหมัน เกาะบะติงมิ้ง เกาะยาวาซา เกาะลาดิง เกาะหม้อ เกาะทัพ เป็นต้น     ที่มา : https://www.krabipao.go.th/travel/detail/38
อ่านต่อ

หาดไร่เลย์

หาดไร่เลย์ ตั้งอยู่ใน ตำบลอ่าวนาง อำเภอเมือง จังหวัดกระบี่ เป็นหาดทรายสีขาวละเอียด ริมโตรกผา ซึ่งหาดไร่เลย์เป็นที่รู้จักดีในหมู่นักท่องเที่ยว โดยเฉพาะผู้ที่ชื่นชอบกิจกรรมปีนหน้าผา และหาดไร่เลย์ แบ่งออกเป็น หาดไร่เลย์ตะวันออก (หาดน้ำเมา) และ หาดไร่เลย์ตะวันตก มีโขดหินคั่นระหว่างหาดทั้งสอง บริเวณหาดมีที่พักสำหรับนักท่องเที่ยวหลายแห่ง เดินทางเข้าถึงได้โดยทางเรือ จากอ่าวนางใช้เวลา 10 นาที นอกจากน้ำสวย ทะเลใสแล้ว หาดไร่เลย์ ยังได้ชื่อว่ามี "พระอาทิตย์ตก" ที่สวยงามเพราะเมื่อพระอาทิตย์ตก แสงแดดจะสะท้อนเงาจากหินลงไปที่อ่าว ภาพต้นมะพร้าวเรียงกันเป็นทิวแถว เรือประมงจอดเรียงรายที่ชายฝั่ง   ที่มา : https://www.krabipao.go.th/travel/detail/37
อ่านต่อ

เกาะลันตา

เกาะลันตา อยู่ในทะเลอันดามันในเขตจังหวัดกระบี่ ระหว่างทะเลกระบี่กับทะเลตรัง ห่างจากเขตจังหวัดกระบี่ไปทางทิศใต้ ประมาณ 80 กิโลเมตร ประกอบด้วยเกาะ ขนาดใหญ่ 2 เกาะ คือเกาะลันตาใหญ่ และ เกาะลันตาน้อย มีเกาะเล็กๆ อีกมากมาย เป็นศูนย์กลางความเจริญ และ ศูนย์กลางธุรกิจท่องเที่ยวอยู่ที่เกาะลันตาใหญ่ ซึ่ง เป็นเกาะที่อยู่ทางด้านทิศใต้ของหมู่เกาะลันตา เป็นเกาะใหญ่ที่เป็นที่ตั้งของที่ทำการอำเภอเกาะลันตา มีท่าเรือท่องเที่ยว ที่พานักท่องเที่ยวไปเที่ยวยังที่ต่างๆในทะเลอันดามัน ทั้งเกาะพีพี   เกาะภูเก็ด ทะเลตรัง เกาะรอก และจุดดำน้ำหินม่วง-หินแดง แหล่งท่องเที่ยวของเกาะลันตา จะอยู่ทางชายฝั่งด้านทิศตะวันตก ซึ่งมีชายหาดทอดตัวยาวไปเกือบตลอดแนวเกาะ มีสิ่งอำนวยความ สะดวกต่างๆ สำหรับนักท่องเที่ยว อาทิเช่นรีสอร์ท บังกะโล ร้านอินเตอร์เนต มินิมาร์ท ร้านอาหาร ปลายสุดด้านทิศใต้ของ เกาะลันตาเป็นที่ตั้งของที่ทำการ อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะลันตาและประภาคารสัญลักษณ์ของเกาะลันตา   ที่มา : https://www.krabipao.go.th/travel/detail/42
อ่านต่อ

อ่าวมาหยา

 อ่าวมาหยา เกิดขึ้นด้วยกระบวนการพังทลายของส่วนหนึ่งของเขาหินปูนเป็นหน้าผาที่โอบล้อมที่พังทลายกลายเป็นช่องเปิดขนาดใหญ่เมื่อหลายพันปีก่อน เชื่อมต่อกับทะเลภายนอก น้ำทะเลไหลเวียนเข้าออกได้ดี เกาะหินปูนแห่งนี้ยังตั้งอยู่ห่างชายฝั่งหลายสิบกิโลเมตร , อ่าวมาหยา ตั้งอยู่บนเกาะพีพีเล เกาะขนาดใหญ่เป็นอันดับสองของหมู่เกาะพีพี จังหวัดกระบี่ เป็นเวิ้งอ่าวขนาดเล็กรูปพระจันทร์เสี้ยวที่โอบล้อมด้วยเขาหินปูน ประกอบกับน้ำทะเลสีเขียวสดใสจนมองเห็นพื้นทราย และมีหาดทรายขาวสะอาด ทรายละเอียด ทำให้มีทิวทัศน์สวยงาม   ที่มา : https://www.krabipao.go.th/travel/detail/41
อ่านต่อ

หมู่เกาะพี พี

หมู่เกาะพี พี อยู่ห่างจากจังหวัดกระบี่ราว 40 กิโลเมตร หมู่เกาะพีพี เป็นส่วนหนึ่งของอุทยานแห่งชาติ หาดนพรัตน์ธารา-หมู่เกาะพีพี เดิมชาวทะเลเรียก หมู่เกาะนี้ว่า “ปูเลาปิอาปิ” คำว่า “ปูเลา” แปลว่าเกาะ คำว่า “ปิอาปิ” แปลว่าต้นไม้ทะเลชนิดหนึ่งจำพวกแสม และโกงกาง ต่อมาเรียกว่า “ต้นปีปี” ซึ่งภายหลัง กลายเสียงเป็น “พี พี" ซึ่งได้ ชื่อว่าเป็นอาณาจักรแห่งบุปผาใต้สมุทร นักท่องเที่ยวที่มาเที่ยวหมู่เกาะนี้ส่วนใหญ่มาเพื่อดำน้ำดูปะการัง ดอกไม้้ทะเลและปลา หลากสีสันที่สวยงาม หมู่เกาะพีพี ประกอบด้วยประกอบด้วย 2 เกาะใหญ่ๆ คือ เกาะพีพีดอน และ เกาะพีพีเล และเกาะเล็กๆข้างเคียง คือ เกาะยูง เกาะไม้ไผ่ เกาะพีพีดอน และ เกาะพีพีเล เป็นสถานที่ท่องเที่ยวหลัก มีลักษณะเป็นเวิ้ง หรือ อ่าวใหญ่ ที่ภายในมีหาดทรายขาวสะอาด น่าเล่นน้ำและดูปะการัง และเกาะพีพีดอน เคย ติดอันดับ 1 ใน 10 อันดับเกาะที่สวยงามที่สุดในโลกเลย ,เกาะพีพีดอนเป็นศูนย์กลางของหมู่เกาะพีพี มีทั้ง ที่พัก ร้านอาหาร และสิ่งอำนวยความสะดวกครบครัน มีทิวทัศน์ที่สวยงาม     ที่มา : https://www.krabipao.go.th/travel/detail/40/data.html
อ่านต่อ

หาดป่าตอง

หาดป่าตอง ชายหาดที่มีชื่อเสียงมากและเป็นสถานที่เที่ยวในภูเก็ต ซึ่งเต็มไปด้วยนักท่องเที่ยวเยอะแยะมากมายตลอดทั้งปี นอกจากทะเลแล้วยังมีร้านอาหาร ร้านขายของต่างๆ มากมาย เพื่อนๆ สามารถเดินเที่ยวในป่าตองได้ 24 ชั่วโมงเลย หากมาหาดป่าตองจะนอนนอนชายหาดมองฟ้ามองน้ำเฉยๆ ก็คงจะธรรมดาไป ต้องลองทำกิจกรรมทางน้ำให้ครบ ทั้งเจ็ตสกี พาราชู้ต เล่นกีฬาทางน้ำกันเหนื่อยๆ ก็ไปตะลุยหาร้านเด็ดร้านดังกันต่อ รับรองป่าตองไม่มีทางน่าเบื่อ   ที่มา : https://www.phuketcity.go.th/travel/detail/275/data.html
อ่านต่อ

แหลมพรหมเทพ

แหลมพรหมเทพ แลนด์มาร์กของจังหวัดภูเก็ตที่ใครไม่มานั้นถือว่ามาไม่ถึงภูเก็ต เพราะเป็นจุดชมพระอาทิตย์ตกที่เขาว่ากันว่าสวยที่สุดในประเทศไทยเลยทีเดียว แหลมพรหมเทพมีลักษณะเป็นแหลมโค้งทอดตัวลงสู่ทะเล สามารถเดินลงไปที่ปลายแหลมได้  เมื่อไปถึงตรงปลายแหลมจะสามารถมองเห็นวิวด้านซ้ายเป็นหาดในยะ ส่วนด้านขวาก็จะเป็นชายหาดในหานสวยงามมากทีเดียว นอกจากตัวแหลมแล้ว เพื่อนๆ ยังสามารถไปดูประภาคารกาญจนาภิเษก ซึ่งภายในจะมีนิทรรศการเกี่ยวกับการสร้างประภาคารอยู่ด้วย ค่าเข้า : ไม่เสียค่าเข้า วันและเวลาทำการ : ตลอด 24 ชั่วโมง ที่อยู่ : ราไวย์ อำเภอเมือง จังหวัดภูเก็ต   ที่มา : https://www.phuketcity.go.th/travel/detail/276
อ่านต่อ

วัดไชยธาราราม (วัดฉลอง)

วัดฉลอง ภูเก็ต หรือชื่อที่เรียกเป็นทางการ ก็คือ วัดไชยธาราม เป็นวัดคู่บ้านคู่เมืองภูเก็ต ถ้าใครมาภูเก็ตจะต้องมาแวะนมัสการ หลวงพ่อแช่ม แห่งวัดฉลอง เพื่อเป็นสิริมงคลแต่ตัวเอง อีกทั้งที่วัดฉลองแห่งนี้ยังเป็นที่ตั้งของ พระมหาธาตุเจดีย์พระจอมไทยบารมีประกาศ เป็นที่ประดิษฐสถานของพระบรมสารีริกธาตุของพระพุทธเจ้าที่นำมาจากศรีลังกา วัดฉลองแห่งนี้เป็นสถานที่ท่องเที่ยวในภูเก็ตอีกแห่งที่ใครๆที่มาเที่ยวภูเก็ตจะต้องมาวัดแห่งนี้ วันนี้ผมก็เลยมาแนะนำใน Blog ของผม ให้ทุกท่านที่จะมาเที่ยวภูเก็ตได้ทำความรู้จักวัดฉลองแห่งนี้ วัดไชยธาราราม (วัดฉลอง) ภูเก็ต ว่ากันว่าหากมาถึงภูเก็ตแล้ว ควรได้เดินทางมาไหว้หลวงพ่อแช่มที่วัดฉลองหรือวัดไชยธาราราม วัดคู่บ้านคู่เมืองภูเก็ต เรื่องราวความศักดิ์สิทธิ์ กิตติศัพท์ในการรักษาโรค บุญญาบารมี และเมตตาธรรมที่สูงส่งของหลวงพ่อทำให้มีผู้เลื่อมใสศรัทธาเป็นอันมาก เล่ากันว่าในขณะที่ท่านมีชีวิตอยู่นั้น ถึงกับมีผู้ที่รอปิดทองตามแขนและขาของท่าน จนแลดูเหลืองอร่ามไปทั่วราวกับปิดทองพระพุทธรูป และแม้ว่าหลวงพ่อแช่มจะมรณภาพเป็นเวลานับหนึ่งร้อยปีมาแล้วก็ตาม ชื่อเสียงเกียรติคุณและบารมีของท่านก็อยู่ในความทรงจำของผู้คนสืบมา ทุกวันนี้หลวงพ่อแช่มยังคงเป็นที่พึ่งพาทางจิตใจให้กับชาวภูเก็ต และชาวไทยทั่วทุกภาคหรือแม้แต่เพื่อนบ้านผู้มาเยือนดินแดนไข่มุกแห่งอันดามันนี้เสมอ ประวัติตอนหนึ่งของหลวงพ่อแช่มนั้นเล่าว่าในปี พ.ศ.2419 ซึ่งตรงกับสมัยของรัชกาลที่ 5 หลวงพ่อแช่มได้ช่วยเหลือชาวภูเก็ตต่อสู้กับพวกอั้งยี่ ชาวกรรมกรเหมืองแร่ที่ได้ก่อเหตุจลาจล ไล่ฆ่าฟันโจมตีชาวบ้านและจะยึดครองเมืองภูเก็ต ในครั้งนั้นหลวงพ่อได้มอบผ้าประเจียดสีขาวให้ชาวบ้านทุกคนโพกหัวเพื่อเป็นเครื่องรางป้องกันอันตราย ซึ่งได้สร้างความเชื่อมั่นและขวัญกำลังใจให้กับชาวภูเก็ตเป็นอย่างมาก และใช้วัดฉลองเป็นที่มั่นราวกับป้อมค่ายที่ใช้ในการต่อสู้ จนกระทั่งสามารถเอาชนะพวกอั้งยี่ได้ เมื่อรัชกาลที่ 5 ทรงทราบความจึงโปรดเกล้าฯ พระราชทานสมณศักดิ์แก่หลวงพ่อแช่ม เป็นพระครูวิสุทธิวงศาจารย์ญาณมุนี ให้มีตำแหน่งเป็นสังฆปาโมกข์แห่งเมืองภูเก็ต ซึ่งเป็นตำแหน่งสูงสุดในสมัยนั้น และได้พระราชทานนามวัดฉลองเป็นวัดไชยธารารามแต่นั้นมา   ขอบคุณรูปภาพจาก : Kirandeep Singh Walia
อ่านต่อ

พระใหญ่เมืองภูเก็ต

เป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัย ศิลปแบบร่วมสมัย ขนาดหน้าตักกว้าง 25.45 เมตร ความสูง 45 เมตร โครงสร้างคอนกรีตเสริมเหล็ก ประดับผิวด้วยหินอ่อนหยกขาว “สุริยกันต”(สุริยกันตะ) จากพม่า น้ำหนักเฉพาะหินอ่อน หยกขาวประมาณ 135 ตัน หรือประมาณ 2,500 ตารางเมตร ประดิษฐาน ณ พุทธอุทยานยอดเขานาคเกิด ตำบลกะรน อำเภอเมือง จังหวัดภูเก็ต ซึ่งต่อมาก็ได้รับการถวายพระนามจากสมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก ว่า “พระพุทธมิ่งมงคลเอกนาคคีรี” พร้อมตราตั้งให้เป็นพระพุทธรูปประจำเมืองภูเก็ต เมื่อวันที่ 28 ตุลาคม พ.ศ. 2550 โดยนายสุพร วนิชกุล ประธานดำเนินการจัดสร้างเป็นผู้รับนมัสการสนองพระเดชพระคุณ.... เปิดทำการทุกวันตั้งแต่เวลา 6:30 น. ถึง 18:30 น. <iframe width="560" height="315" src="https://www.youtube.com/embed/AoUcKQoCgYc" title="YouTube video player" frameborder="0" allow="accelerometer; autoplay; clipboard-write; encrypted-media; gyroscope; picture-in-picture; web-share" allowfullscreen></iframe> ที่มา : https://www.mingmongkolphuket.com  
อ่านต่อ

เกาะปันหยี

เกาะปันหยี เป็นเกาะเล็ก ๆ มีที่ราบประมาณ 1 ไร่ มีบ้านเรือน 200 หลังคาเรือน ประชาชนส่วนใหญ่นับถือศาสนาอิสลาม มีอาชีพประมงเป็นหลัก

เป็นภูเขาหินปูนที่มีลักษณะสูงใหญ่และแผ่กว้าง สามารถบังคลื่นลมได้เป็นอย่างดี มีสันดอนดินทรายที่ทับถมจนเป็นพื้นราบ เป็นที่ตั้งของหมู่บ้านเล็ก ๆ 4 แห่ง สร้างสีสันท่ามกลางธรรมชาติที่แวดล้อมด้วยเกาะน้อยใหญ่ในทะเลและป่าชายเลนของอุทยานแห่งชาติอ่าวพังงา บรรพบุรุษของชาวเกาะปันหยี เป็นชาวชวาจำนวน 3 ครอบครัว อพยพจากอินโดนีเซียโดยเรือใบ 3 ลำ เมื่อปลายศตวรรษที่ 18 และตกลงกันว่าหากพบพื้นที่เหมาะสมแล้ว ให้ปักธงเป็นสัญลักษณ์ไว้ คำว่า “ปันหยี” (Pulau Panji) แปลว่า “ธง” เมื่อมาตั้งถิ่นฐานบนเกาะแห่งนี้แล้ว ก็ได้ดำเนินวิถีชีวิตอยู่ภายใต้บริบทวัฒนธรรมอิสลามมานานกว่า 300 ปี หมู่บ้านเกาะปันหยี หมู่ที่ 2 ตำบลเกาะปันหยี ประกอบด้วยประชากรประมาณ 1,400 คน บ้านเรือนส่วนใหญ่เกือบ 350 หลังคาเรือน เป็นบ้านชั้นเดียวปลูกยกพื้นสูงเรียงรายอยู่ในทะเลอ่าวพังงาทางด้านหน้าของหน้าผาหินปูน ส่วนที่เป็นพื้นดินเชิงเขาประมาณ 1 ไร่ ชาวเกาะปันหยีใช้เป็นพื้นที่ส่วนกลางของหมู่บ้าน เป็นพื้นที่สุสานและที่ตั้งมัสยิดดารุสสลาม ที่ก่อสร้างเป็นอาคารสูงสองชั้น ยอดโดมมีสีทองโดดเด่นสวยสง่า ภายในอาคารตกแต่งด้วยหินอ่อน ธรรมชาติท้องทะเลได้เอื้ออำนวยต่อการทำประมงน้ำตื้น เลี้ยงหอยแครง เลี้ยงปลาในกระชัง เป็นรายได้หลักของชาวบ้าน แต่เมื่อนักท่องเที่ยวมาเยือนมากขึ้น ทำให้ชาวบ้านหันมาทำอาชีพเสริมรองรับ ทั้งร้านอาหาร รับจ้างขับเรือและขายสินค้าที่ระลึก ซึ่งส่วนใหญ่เป็นอาหารทะเลตากแห้งและแปรรูป อีกทั้งเกาะปันหยี ยังเป็นแหล่งผลิตเครื่องประดับที่ทำจากหอยมุกที่มีชื่อเสียงมาก จึงสร้างรายได้ให้กับชุมชนเป็นอย่างดีในช่วงปลอดมรสุม ระหว่างเดือนธันวาคม-เมษายน ใกล้ ๆ กันเป็นที่ตั้งของภูเขาเขียน ซึ่งมีภาพเขียนสีแดงรูปคนและสัตว์น้ำต่าง ๆ ตั้งอยู่ก่อนถึงตัวเกาะปันหยีประมาณ 400 เมตร ส่วนถ้ำทะลุที่อยู่ไม่ห่างกัน เป็นเกาะกลางน้ำที่ตรงกลางมีช่องลอดผ่านได้ เป็นจุดพายแคนูท่องเที่ยวอีกแห่งหนึ่งในอุทยานฯ การเดินทาง : สามารถซื้อแพคเก็จทัวร์แบบไปและกลับในวันเดียวได้จากบริษัทนำเที่ยวในภูเก็ต หรือท่าเรือในจังหวัดพังงา เช่น ท่าเรือท่าด่าน อำเภอเมืองพังงา ท่าเรือสุระกุล และท่าเรือบ้านหินร่ม อำเภอตะกั่วทุ่ง เป็นต้น

ที่มา : https://thai.tourismthailand.org/Attraction/เกาะปันหยี

อ่านต่อ

ทะเลแหวกหนวดมังกร

ทะเลแหวกหนวดมังกร อยู่ในเขต อ.คุระบุรี จ.พังงา เป็นแหล่งท่องเที่ยว UNSEEN แหล่งใหม่ ที่เกิดจากความมหัศจรรย์ของธรรมชาติ เป็นทะเลแหวกที่ยาวที่สุดในประเทศไทย ด้วยระยะทางกว่า 3 กิโลเมตร เกิดขึ้นในช่วงเวลาที่น้ำทะเลลดระดับ ทำให้เห็นแนวสันทรายมีลวดลายเหมือนหนวดมังกร คดเคี้ยวไปมาในท้องทะเล    นอกจากลวดลายหนวดมังกรที่ไล่เรียงไปบนท้องทะเลแล้ว ยังมีเอกลักษณ์สำคัญของสันทรายที่นี่ คือมีความนุ่มเนียนละเอียดเมื่อก้าวเท้าลงไปสัมผัสกับพื้นทรายแห่งนี้

ข้อมูลการเดินทาง ท่าเทียบเรืออุทยานแห่งชาติหมู่เกาะสุรินทร์ การเดินทางใช้เวลาเดินทางโดยเรือประมาณ 20 นาทีจากท่าเรือ -ละติจูด : 9.22678200 -ลองจิจูด : 98.37369300   ที่มา : https://www.phangngapao.go.th/travel/detail/116/data.html ขอบคุณรูปภาพจาก : Manager Online
อ่านต่อ

เขาตะปู

เขาตาปู อยู่ในเขตอุทยานแห่งชาติอ่าวพังงา มีชื่อเรียกว่า “เกาะตะปู” ตามลักษณะของเกาะซึ่งเป็นเขาหินปูนที่ถูกกัดกร่อนฐานมีลักษณะคล้ายกับตะปู แต่ชาวต่างชาติจะรู้จักกันในนาม เกาะเจมส์บอนด์ (James Bond Island) เพราะเป็นที่ถ่ายทำภาพยนตร์เจมส์ บอนด์ 007 ตอน เพชฌฆาตปืนทอง (The Man with the Golden Gun) เมื่อปี พ.ศ.2517 ภาพเขาตาปูจึงเป็นภาพจำของนักท่องเที่ยวจากทั่วทุกมุมโลก เขาตะปู เป็นโขดหินขนาดเล็ก ตั้งอยู่ทางด้านเหนือในเวิ้งอ่าวของเกาะเขาพิงกัน ทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ของอุทยานแห่งชาติอ่าวพังงาในท้องที่ ตำบลกะไหล อำเภอตะกั่วทุ่ง จังหวัดพังงา ห่างจากที่ทำการอุทยานฯ ไปตามลำคลองเกาะปันหยีเป็นระยะทางประมาณ 15 กิโลเมตร เกาะตาปูมีลักษณะเป็นเกาะเดี่ยว ส่วนบนโปนออกและคอดกิ่วลงที่บริเวณฐานเหมือนกับตาของปู (เกาะในลักษณะนี้มีศัพท์ทางธรณีวิทยาเรียกว่า เกาะหินโด่ง) การชมเกาะตาปูต้องชมในระยะไกลจากเรือ หรือจากสันดอนของเกาะเขาพิงกัน ไม่สามารถขึ้นไปบนเกาะได้   ที่มา : https://www.phangngapao.go.th/travel/detail/128 ขอบคุณรูปภาพจาก : Cbill
อ่านต่อ

อุทยานแห่งชาติอ่าวพังงา

อุทยานแห่งชาติอ่าวพังงา ครอบคลุมพื้นที่ป่าชายเลนในอำเภอตะกั่วทุ่ง และอำเภอเมือง จ.พังงา รวมกว่า 400 ตารางกิโลเมตร ประกอบไปด้วยเกาะน้อยใหญ่มากมายที่มีเอกลักษณ์และความงดงามทางธรรมชาติที่แตกต่างกัน นักท่องเที่ยวสามารถล่องเรือชมความงามของเขาตาปู หรือที่ชาวต่างชาติรู้จักกันในชื่อ เกาะเจมส์บอนด์ ตื่นตาไปกับของเขาพิงกัน หรือจะนั่งเรือลอดถ้ำที่เกาะทะลุ เปลี่ยนบรรยากาศสัมผัสธรรมชาติพายเรือแคนนูที่เกาะห้อง และเยี่ยมชมวิถีชีวิตหมู่บ้านชาวประมงที่เกาะปันหยี ที่สามารถซื้อของฝากของที่ระลึกกลับบ้านได้อีกด้วย
ลักษณะภูมิประเทศ
ลักษณะภูมิประเทศของอุทยานแห่งชาติอ่าวพังงา ทิศเหนือ จดพื้นที่ป่าชายเลนในท้องที่อำเภอเมืองพังงา ทิศใต้ จะทะเลเขตอำเภอเกาะยาว จังหวัดพังงา และเขตทะเลจังหวัดภูเก็ต ทิศตะวันออก จดทะเลเขตท้องที่จังหวัดกระบี่ และทิศตะวันตก จดพื้นที่ป่าชายเลน และที่ชายทะเลท้องที่อำเภอตะกั่วทุ่ง อำเภอเมือง จังหวัดพังงา ลักษณะเป็นภูเขาหินตะกอน หินแปรสลับอยู่เป็นแนวยาว มีภูเขาหินปูนแทรกโผล่เป็นหย่อมๆ กระจายอยู่ทั่วไป สภาพธรรมชาติที่เปลี่ยนแปลงตามสภาพแวดล้อมทำให้เกิดเป็น โพรง ถ้ำ การยุบตัวของแผ่นดินทางทิศตะวันตก ทำให้เกิดเป็นชายฝั่งขรุขระ เว้าๆ แหว่งๆ เกิดเป็นอ่าวและเกาะ ทำให้เกิดทัศนียภาพที่สวยงาม อุทยานแห่งชาติอ่าวพังงา ได้รับอิทธิพลจากลมมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ มีอุณหภูมิเฉลี่ย 26 - 28 องศาเซลเซียส ปริมาณน้ำฝนเฉลี่ยรายปีประมาณ 3,500 มิลลิเมตร
 
ลักษณะภูมิอากาศ
ลักษณะภูมิอากาศของบริเวณอุทยานแห่งชาติอ่าวพังงา ขึ้นอยู่กับลมมรสุมตะวันตกเฉียงใต้และลมมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือ ช่วงฝนตกหนักมากระหว่างฤดูมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ ตั้งแต่เดือนพฤษภาคม ถึงเดือนตุลาคม เดือนพฤศจิกายน – มีนาคม มีลมตะวันออกเฉียงเหนือพัดประจำ บางครั้งอาจถึงเดือนเมษายน ปกติบริเวณอ่าวพังงา จะมีทัศนวิสัยที่ดีมาก เว้นแต่ในช่วงที่มีฝนตกชุก คลื่นลมในทะเล มีคลื่นปานกลางถึงมีคลื่นหนักระหว่างฤดูมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ ตั้งแต่เดือนพฤษภาคม – ตุลาคม ในฤดูมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือทะเลเงียบถึงมีคลื่นเล็กน้อย เว้นเดือนพฤศจิกายน มีคลื่นเล็กน้อย – ปานกลาง บางครั้งอาจมีคลื่นหนัก – หนักมาก
พืชพรรณและสัตว์ป่า
พันธุ์พืช ในเขตอุทยานแห่งชาติอ่าวพังงา ปรากฏว่าสังคมพืชแตกต่างไปตามลักษณะภูมิประเทศลักษณะดินและหิน ความแปรผันของการขึ้นลงของน้ำทะเล กระแสน้ำตลอดจนกิจกรรมของมนุษย์ที่เข้าไปรบกวนสภาพธรรมชาติ จำแนกออกได้เป็น 5 ประเภท      
1. ป่าชายเลน
          1.1. ป่าชายเลนบริเวณเขาหินปูน พบว่า มีชนิดพันธุ์ไม้ที่สำคัญในป่าชายเลนถึง 12 ชนิด ได้แก่ โกงกางใบใหญ่ โกงกางใบเล็ก ตะบูนขาว ตะบูนดำ ประสักแดง ถั่วขาว ถั่วดำ โปรง พังกาหัวสุม ลำพู ลำแพน รังกะแท้ แสมขาว นอกจากนี้ยังพบต้นจาก ซึ่งขึ้นอยู่บริเวณริมน้ำ หรือค่อนข้างเป็นดินเลน และเหงือกปลาหมอ ส่วนปรงทะเลพบน้อยมากบริเวณที่ป่าถูกทำลายเท่านั้น
          1.2 ป่าชายเลนบริเวณเขาหินเชลล์ และควอทไซท์ มีพันธุ์ไม้ที่สำคัญอยู่ 7 ชนิด คือ โกงกางใบใหญ่ โกงกางใบเล็ก ตะบูนขาว ประสักแดง ถั่วขาว ถั่วดำ โปรง สำหรับพันธุ์ไม้ชั้นล่างที่สำคัญคือ เหงือกปลาหมอขึ้นหนาแน่นบริเวณริมน้ำก็มี สำมะนา และหวายตะมอย
          1.3 ป่าชายเลนบริเวณเขาหินทราย พันธุ์ไม้ที่สำคัญในบริเวณนี้มีมากน้อยกว่า เนื่องจากสภาพดินเป็นทรายมากเกินไป นอกจากนี้ประกอบกับพื้นที่ได้รับอิทธิพลจากลมและกระแสน้ำอีกด้วย พันธุ์ไม้ที่สำคัญที่พบมี 5 ชนิด คือ โกงกางใบเล็ก โกงกางใบเล็ก ลำแพน แสม ตะบูนขาว และฝาด นอกจากนี้มักพบเสม็ด ในบริเวณที่ติดกับป่าบกซึ่งน้ำมีความเค็มค่อนข้างต่ำ
     2. ป่าบก ที่พบเป็นประเภทไม้ผลัดใบ ซึ่งจัดเป็นป่าดงดิบชื้น แบ่งได้ ดังนี้
          2.1 ป่าบกที่ขึ้นบนพื้นที่เขาหินปูน พบอยู่กระจัดกระจายทั่วไป ตามเขาหินปูนบริเวณอ่าวพังงามี 2 ประเภท
          - ป่าที่ขึ้นอยู่บนบก พื้นที่ค่อนข้างเรียบและบริเวณที่เรียกว่า Karst ซึ่งเป็นบริเวณหุบเขามีพันธุ์ไม้ที่สำคัญได้แก่ ขี้หนอน เหรียง ตะเคียนหิน มะหาด สีเสียด ทังเขา ไทร จำปาเขา ขี้เหล็ก มะไฟ มะม่วงป่า ไม้นน สมอกานน สองกระดอง มะขามป้อม ชะมวง ชุมแสง ยอป่า มะเดื่อ ปอเซ่ง เปล้า และชุมเห็ด สำหรับไม้ชั้นล่าง ได้แก่ เต่าร้าง เตย ลำเพ็ง ขิง ข่า ไผ่ป่า นอกจากนี้ยังมีพวกหญ้า ปาล์ม และว่านชนิดต่าง ๆ ด้วย
          - ป่าที่ขึ้นอยู่บนพื้นที่ค่อนข้างชื้นของหินปูน ประกอบด้วยพันธุ์ไม้ที่มีขนาดเล็กเตี้ย ยกเว้นบริเวณซอกหินเท่านั้น ที่มีธาตุอาหารสูง พันธุ์ไม้ที่พบได้แก่ ตะเคียนทอง เขากวาง กาหยี มะกอก เขา ตะแบก
          2.2 ป่าที่ขึ้นอยู่บริเวณพื้นที่เขาหินเชลล์และควอทไซท์ พบว่ามีพันธุ์ไม้ขึ้นค่อนข้างหนาแน่นมีการปกคลุมของเรือนยอด ประมาณ 70 – 90 % จะพบไม้ยางนาขึ้นอยู่กระจัดกระจาย และยังพบพันธุ์ไม้ที่สำคัญคือ มังตาล พังกา ไม้ทังคาย ส่วนพืชชั้นล่างก็พบพวก ไผ่ป่า หญ้าพังเหร
     3. สังคมพืชน้ำ อุทยานแห่งชาติอ่าวพังงา ส่วนใหญ่จะเป็นพื้นที่น้ำ ดังนั้นสังคมพืชน้ำจึงเป็นองค์ประกอบสำคัญของสังคมพืชน้ำ โดยเฉพาะสาหร่าย จะขึ้นอยู่ตามต้นหรือรากของต้นแสม โกงกาง หรือขึ้นอยู่บริเวณชายหาดตามผิวดิน อาจจะเกาะตามหินหรือเปลือกหอย ซึ่งสาหร่ายก็แบ่งออกเป็น 3 ชนิด คือ สาหร่ายสีน้ำตาล สีเขียว สีแดง และนอกจากนี้ยังพบพวกหญ้าทะเล แพลงตอน อีกด้วย ซึ่งจะมีความสำคัญต่อสิ่งมีชีวิตในท้องทะเลในด้านการเป็นอาหาร แหล่งที่อยู่อาศัยหรือวางไข่ของสัตว์น้ำนานาชนิด
          - พันธุ์พืชหายาก ในที่อุทยานแห่งชาติอ่าวพังงามีกล้วยไม้รองเท้านารีเหลืองพังงา ซึ่งพบได้ยาก โดยจะขึ้นอยู่บริเวณตามหน้าผา ซอกหินสูง บนเขาหินปูน ในพื้นที่สูงจากระดับน้ำทะเล 100 เมตร ดอกเป็นดอกเดี่ยว ก้านดอกตั้งตรง มีจนสั้นปกคลุมเมื่อดอกบานเต็มที่ เส้นผ่าศูนย์กลาง 5 – 8 ซม. มีกระเปาะสีนวลขาว จะออกดอกประมาณเดือน เมษายน - สิงหาคม และพฤศจิกายน - ธันวาคม พันธุ์สัตว์ ในอุทยานแห่งชาติอ่าวพังงา มีสัตว์อยู่หลายชนิด ทั้งสัตว์น้ำ สัตว์บก และสัตว์ปีก แบ่งออกเป็นประเภทต่าง ๆ ได้ดังนี้
     1. สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม มีมากถึง 27 ชนิด ได้แก่ ลิงแสม ชะนี ค่างแว่นถิ่นใต้ กระรอกปลายหางดำ เลียงผา กระจ้อน นากใหญ่ขนเรียบ หมูเหม็นหรือสาโท กระแตธรรมดา ลิ่นหางยาว หนูท้องขาว หนูหริ่ง นากหางยาว เป็นต้น
     2. นก พบจำนวน 120 ชนิด ได้แก่ นกยางเขียว เหยี่ยวแดง นกออก นกหัวโตพันธุ์มลายู นกเปล้าคอสีม่วง นกบั้งรอกเล็กท้องเทา นกนางแอ่นกินรัง นกกระเด็นน้อยธรรมดา นกโกงกางหัวโต นกขมิ้นหัวดำเล็ก เป็นต้น
     3. สัตว์เลื้อยคลาน พบทั้งสิ้น 26 ชนิด ได้แก่ เต่าหับ เต่าแดงหรือเต่าใบไม้ เต่าดำหรือเต่าแก้มขาว จิ้งจกหางหยาบ กิ้งก่าบินปีกสีส้ม กิ้งก่าแก้ว แย้ เหี้ย ตะกวดหรือแลน จิ้งเหลนบ้าน จิ้งเหลนต้นไม้ งูทางมะพร้าว งูปล้องหรืองูตามธาร งูสร้อยเหลือง งูปากกว้างน้ำเค็ม งูลายสาบดำขาว งูลายสายคอแดง เป็นต้น
     4. สัตว์สะเทินน้ำสะเทินบก พบ 4 ชนิด ได้แก่ กบน้ำเค็ม หรือกบน้ำกร่อย กบหนอง กบนาหรือกบเนื้อ และเขียดตะปาด
     5. ปลา ประกอบด้วยปลาทะเลนานาชนิดตามบริเวณป่าชายเลน ปากน้ำทะเลและพื้นน้ำทะเล เท่าที่สังเกตพบมี ปลาฉลาม ปลากระเบน ปลาไหลทะเล ปลาจาระเม็ด ปลาเก๋า ปลากระบอก ปลากะพง ปลาตีน ปลาดุกทะเล และปลาที่อาศัยอยู่ในบริเวณแห่งปะการังหลายชนิด เช่น ปลาในสกุลปลาผีเสื้อ และปลามีค่าทางเศรษฐกิจหลายชนิด เช่น ปลาในสกุลปลาทู
     6. สัตว์ประเภทอื่น ๆ ที่มีจำนวนมาก นอกจากสัตว์ป่าและปลาหลายชนิดต่างๆ ที่กล่าวมา ยังมีสัตว์น้ำที่สำคัญและมีประโยชน์ทางเศรษฐกิจ และทางด้านนันทนาการ ได้แก่ สัตว์ประเภทกุ้ง หอย และ สัตว์ชั้นต่ำ ประเภทไม่มีกระดูกสันหลัง จำพวกปะการังอีกหลายชนิด เท่าที่พบในบริเวณอ่าวพังงา ได้แก่ ปะการังหนาม ปะการังพุ่มไม้ ปะการังเขากวาง นอกจากนี้ยังพบกุ้งอยู่ประมาณ 14 ชนิดอีกด้วยได้แก่ กุ้งแชบ๊วย กุ้งกุลาลาย กุ้งหางเหลืองสีฟ้า กุ้งตะกวด กุ้งตะเข็บหรือกุ้งลาย กุ้งรู กุ้งตะเข็บมี 2 ชนิด คือ กุ้งเคย และกุ้งกระต่อม เป็นต้น
การเดินทาง
รถยนต์ สามารถใช้ได้สองเส้นทางได้แก่ เส้นทางแรก จากกรุงเทพฯ ไปตามทางหลวงหมายเลข 4 ผ่านจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ชุมพร ระนอง จากนั้นจึงเข้าสู่ตัวเมืองจังหวัดพังงา รวมระยะทาง 788 กิโลเมตร ใช้เวลาในการเดินทาง 12 ชั่วโมง เส้นทางที่สอง จากกรุงเทพฯ ใช้เส้นทางหลวงหมายเลข 4 ไปจนถึงจังหวัดชุมพร และจากจังหวัดชุมพรให้ตรงไปใช้ทางหลวงหมายเลข 41 ผ่านอำเภอท่าฉาง จังหวัดสุราษฎร์ธานี แล้วแยกขวาเข้าทางหลวงหมายเลข 401 จนถึงอำเภอบ้านตาขุน จังหวัดสุราษฎร์ธานี จากนั้นใช้ทางหลวงหมายเลข 415 ผ่านอำเภอทับปุดเข้าสู่ตัวเมืองพังงา
รถไฟ การรถไฟแห่งประเทศไทย มีขบวนรถไฟออกจากกรุงเทพฯ ไปลงที่สถานีพุนพิน จังหวัดสุราษฎร์ธานี แล้วต่อรถโดยสารประจำทางไปจังหวัดพังงาอีกประมาณ 2 ชั่วโมง สอบถามรายละเอียดได้ที่ สถานีรถไฟหัวลำโพง โทร. 1690, 0 2223 7010, 0 2223 7020 หรือ www.railway.co.th รถโดยสารประจำทาง บริษัท ขนส่ง จำกัด มีรถโดยสารประจำทางทั้งแบบปรับอากาศและธรรมดา กรุงเทพฯ-พังงา บริการทุกวัน ออกจากสถานีขนส่งสายใต้ ถนนบรมราชชนนี ใช้เวลาในการเดินทางประมาณ 10 ชั่วโมง สอบถามรายละเอียดได้ที่ โทร. 02 894 6122 จองตั๋ว บขส. โทร. 02 422 4444 หรือ www.transport.co.th สถานีพังงา ถนนเพชรเกษม (หลังธนาคารหลวงไทย) โทร. 0 7641 2300, 0 7641 2014
นอกจากนั้นจากจังหวัดพังงา มีรถโดยสารไปยังจังหวัดต่าง ๆ คือ ภูเก็ต กระบี่ ตรัง พัทลุง หาดใหญ่ สงขลา ปัตตานี นราธิวาส สุไหง-โกลก อ.บ้านตาขุน อ.พุนพิน จ.สุราษฏร์ธานี และจากอำเภอเมืองมีรถประจำทางจากตลาดไปท่าเรือท่าด่านศุลกากร ที่สามารถเช่าเรือไปอุทยานแห่งชาติอ่าวพังงาได้ด้วย
เครื่องบิน การเดินทางไปพังงาทางเครื่องบิน นักท่องเที่ยวสามารถใช้บริการเที่ยวบินไปลงจังหวัดภูเก็ต จากนั้นต่อรถโดยสารประจำทางไปจังหวัดพังงา ระยะทางประมาณ 58 กิโลเมตร หรือเทียวบินไปจังหวัดระนอง จากนั้นต่อรถโดยสารประจำทางไปจังหวัดพังงา โดยใช้เวลาเดินทางต่อประมาณ 3 ชั่วโมง หรือสามารถสอบถามได้ที่อุทยานแห่งชาติอ่าวพังงา 076481188 หรือทางอีเมลล์ aophangnga_np@hotmail.com
ที่มา : https://www.phangngapao.go.th/travel/detail/126
ขอบคุณรูปภาพจากคุณ Qimono
อ่านต่อ

จุดชมวิวเสม็ดนางชี

จุดชมวิวเสม็ดนางชี อยู่ในอำเภอตะกั่วทุ่ง จ.พังงา  เป็นจุดชมวิวที่สวยที่สุดแห่งหนึ่งของจังหวัดพังงา ตื่นตาตื่นใจกับวิวภูเขาของอ่าวพังงา ในมุมมองอันซีน โดยเฉพาะช่วงพระอาทิตย์ขึ้น ที่ปรากฏท่ามกลางภูเขาหินปูนของอ่าวพังงา  หรือจะเป็นช่วงกลางวัน กับบรรยากาศภูเขาที่เคียงคู่กับป่าชายเลน ก็สวยไม่ต่างกัน ซึ่งที่นี่มีจุดกางเต้นท์และบ้านพักให้ค้างแรม  สำหรับนักท่องเที่ยวที่ต้องการดูดาวในยามค่ำคืนอีกด้วย สุดยอดวิวพอยท์ ที่เราสามารถชมวิวทิวทัศน์เกาะแก่ง ภูเขาหินปูนในอ่าวพังงา โดยเฉพาะอย่างยิ่งช่วงเช้าตรู่ ยามพระอาทิตย์เริ่มเปล่งแสง เป็นอะไรที่ตื่นตาตื่นใจมากๆ การเดินทาง สำหรับนักท่องเที่ยวที่ต้องการเดินทางมายังเสม็ดนางชี สามารถใช้เส้นทางพังงา-โคกลอย หรือโคกลอย-พังงา หลังจากนั้นเลี้ยวซ้ายเข้าเส้นทางบ้านท่าอยู่-คลองเคียน ระยะทางประมาณ 15 กิโลเมตร จะพบกับทางขึ้นจุดชมวิว และหลังจากจากรถเรียบร้อย ก็ขึ้นไปยังจุดชมวิวอีกประมาณ 500-700 เมตร จะมีรถสองแถวของสถานที่ เป็นคนพาขึ้นไป ไม่อนุญาตให้ขับรถขึ้นไปเอง หรือ หากใครอยากขึ้นเอง สามารถเดินขึ้นเองได้ ค่าเข้าสถานที่ - รถสองแถวรับส่ง ขึ้น-ลง และ บำรุงสถานที่ 90 บาท - เดินขึ้น เสียค่าบำรุงสถานที่ 30 บาท
อ่านต่อ

วัดบางโทง

วัดมหาธาตุวชิรมงคล ตั้งอยู่ที่บ้านบางโทง ต.นาเหนือ อ.อ่าวลึก จ.กระบี่ สร้างขึ้นในปีพ.ศ. 2483 ในที่ดินบริจาคของนายเปล้า ทองศิริ นายมั่น เพ่งกิจ และนายน่วม ดำพันธ์ เดิมวัดแห่งนี้ชาวบ้านเรียกขานว่า “วัดบางโทง” ซึ่งตั้งตามชื่อหมู่บ้านที่ตั้ง วัดบางโทงได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมาเมื่อวันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2496 เขตวิสุงคามสีมา กว้าง 30 เมตร ยาว 70 เมตร ได้ทำพิธีผูกพัทธสีมา เมื่อวันที่ 14 มีนาคม 2519  ในปี พ.ศ. 2545 เมื่อประชาชนและหน่วยงานจากหลากหลายภาคส่วนในจังหวัดกระบี่ ได้ร่วมกันจัดทำ “โครงการสร้างพุทธสถานและพระมหาธาตุเจดีย์ เฉลิมพระเกียรติ ๕๐ พรรษา มหาวชิราลงกรณ” ขึ้นที่วัดแห่งนี้ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ซึ่งขณะนั้นดำรงพระราชอิสริยยศ สมเด็จพระบรมโอรสาธิราช ฯ สยามมกุฎราชกุมาร ในวันที่ 16 พฤศจิกายน 2549 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว พระราชทานนามวัดบางโทงให้ใหม่ เป็น “วัดมหาธาตุวชิรมงคล” พร้อมทั้งให้อัญเชิญพระนามาภิไธยย่อ “ม.ว.ก.” ขึ้นประดิษฐานที่หน้าบันพระอุโบสถ ขณะที่พระพุทธปฏิมาประจำพระชนมวารฯ ให้ใช้พระนามว่า “พระพุทธทักษิณชัยมงคล”  “พระมหาธาตุเจดีย์” ที่ได้รับอิทธิพลมาจาก มหาเจดีย์พุทธคยา สถานที่ที่พระพุทธเจ้าตรัสรู้ ในเมืองคยา รัฐพิหาร ประเทศอินเดีย ตั้งตระหง่านสูงโดดเด่นอยู่กลางวัด กับความสูง 95 เมตร ซึ่งถือเป็นเจดีย์ที่มีความสูงที่สุดในภาคใต้ บริเวณโดยรอบองค์พระมหาธาตุเจดีย์มีทางเดินหรือ “ระเบียงราย” เป็นทางเดินล้อมรอบองค์เจดีย์ทั้ง 4 ด้าน โดยมีพระพุทธรูปต่าง ๆ ประดิษฐานอยู่เป็นจำนวน มากตามแนวทางเดิน เพื่อให้เหล่าพุทธศาสนิกชนได้สักการบูชา ภายในพระมหาธาตุเจดีย์จะมีพระพุทธรูปเป็นพระประธานองค์ใหญ่ตั้งอยู่ใจกลางโดดเด่นเป็นสง่า ซึ่งเป็นที่เลื่อมใสศรัทธาของชาวบ้านและนักท่องเที่ยว ที่ต่างเดินทางแวะเวียนชมพุทธสถานแห่งนี้ และยังมีภาพจิตรกรรมฝาผนังอันงดงาม ที่บอกเล่าเรื่องราวเกี่ยวกับพุทธประวัติ และตกแต่งด้วยลายกนกลายไทยอ่อนช้อยอย่างวิจิตรตระการตา   ที่มา : https://www.krabipao.go.th/travel/detail/63/data.html
อ่านต่อ